วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

จากนิยายออนไลน์ถึงสังคมไทย : ว่าด้วยความรุนแรงที่เป็นลักษณะเฉพาะของไทย?

หลังจากที่ทดลองติดตามอ่านนิยายออนไลน์ในเวบไซต์แห่งหนึ่งมาเกือบเดือน ผู้เขียนก็พบข้อสังเกตของชื่อเรื่องที่มักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "อสูร" "ซาตาน" "มาเฟีย" หรืออะไรก็ตามที่แสดงให้เห็นถึงพลังที่เหนือกว่าของผู้ชายจะได้รับความนิยม เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันจุดร่วมของเนื้อหาของนิยายเหล่านี้ก็ดูจะไม่พ้นเรื่องราวของ ความรักที่มีฉากของการ "ตบจูบ" "ขืนใจ" หรือการที่ผู้หญิงยินยอมใช้ตัวเองแลกกับเงินหรือครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู และหากจะหนักใจผู้เขียนมากขึ้นไปอีกก็คงจะเป็นการบรรยายถึงบทรักทั้งหลายที่ ดุเดือด รุนแรง และเห็นภาพชัดเจนเป็นอย่างยิ่งแม้ว่าจะมีการควบคุมเนื้อหาของนิยายก็ตาม

บุคลิกของตัวละครผู้หญิงที่ปรากฏในเรื่องก็หนีไม่พ้นผู้หญิงที่ไม่สามารถ จะหาทางออกอื่นได้นอกจากการยินยอมตกเป็นของผู้ชายที่ตนเองไม่ได้รักหรือแม้ แต่ไม่เคยพบหน้า แต่ในท้ายที่สุดทั้งคู่ก็ครองรักกันอย่างมีความสุขโดยที่บางคู่อาจจะมีพยาน รักพ่วงแถมมาจากความไม่ตั้งใจหรือการใช้กำลังใดๆก็ตามที่ผ่านมาและที่สำคัญ คือ นิยายประเภทนี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในเวบไซต์และตลาดหนังสือที่ตี พิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม

บางทีนี่อาจไม่ใช่ข้อสังเกตที่แปลกใหม่อะไรในสังคมไทยเพราะนิยายประเภท นี้ก็เคยถูกนำมาทำเป็นละครหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งที่สร้างก็ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้วกับความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงในสังคมไทย เราก็จะพบว่าเรื่องการใช้ความรุนแรงในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่สามารถยอมรับ กันได้เป็นปกติ ผู้เขียนเคยสอบถามเพื่อนที่เป็นผู้หญิงหลายคนเกี่ยวกับความรู้สึกที่ผู้ชาย ที่เป็นคู่รักใช้กำลังกับตน ผู้หญิงส่วนใหญ่จะตอบว่าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ชายไทยที่สามารถยอมรับได้ และที่หนักกว่านั้นคือบางคนบอกว่าพอใจเพราะรู้สึกว่าผู้ชายกำลังรู้สึกหึง หวงตน นั่นยิ่งแสดงว่าผู้ชายคนนั้นรักคนมาก และหมายความว่ายิ่งใช้กำลังมากเท่าใด ความรักก็เพิ่มตามไปด้วย

หลังจากคำถามดังกล่าวยิ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกมึนงงกับทัศคติของหญิงไทย ที่มีต่อการใช้ความรุนแรงทั้งที่ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นกับตัวเองแต่กลับ รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดาอย่างนั้นหรือ?

จากกรณีของผู้หญิงเมื่อหันกลับมาสู่สังคมไทยโดยรวม เราจะพบว่าการใช้ความรุนแรงของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าก็เป็นเรื่องที่เกิด ขึ้นและได้รับการยอมรับอย่างปกติเช่นเดียวกัน ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่ใช้กฎหมายมาตรา 17 ในการควบคุมความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองที่สั่งการได้จากนายกรัฐมนตรีโดย ตรงทำให้เกิดการจับกุมอันธพาลเข้ามาอบรมเพื่อให้กลับสู่สังคมแบบคนดี เกิดการประหารคนที่ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ เช่น การลอบวางเพลิง การค้าขายฝิ่นและยาเสพติด และการเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น ทั้งที่คนในสังคมเกิดความกลัวเป็นอย่างมากภายใต้สถานการณ์ที่ถูกลิดรอนทั้ง เสรีภาพทางด้านร่างกายและการแสดงออก แต่ทุกคนก็สามารถยอมรับจอมพลสฤษดิ์ได้และยังถือกันว่าเป็นผู้นำที่ใช้ความ เด็ดขาดในการทำให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นต่างไปจากผู้นำคนอื่นๆที่ เคยผ่านมาและรวมถึงผู้นำในสมัยปัจจุบันด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ การเกิดรัฐประหารในประเทศไทยหลายต่อหลายครั้งก็อาจจะกล่าวได้ว่าสืบเนื่องมา จากการปูทางของคนในสังคมเองที่เรียกร้องให้มีการใช้อำนาจเข้ามาจัดการ "ความไม่เรียบร้อย" ที่เกิดจากบรรดานักการเมืองที่หวังผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว คนไทยส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่าการใช้ทหารเข้ามาจัดการให้สังคมเป็นระเบียบยิ่ง ขึ้นย่อมจะได้ผลที่ทรงประสิทธิภาพมากกว่าการเลือกตั้งที่มักจะมีการโกงกัน อย่างสกปรกและยังได้ผลมากกว่าการเชื่อมั่นในตัวนักการเมืองอีกด้วย ภายใต้เหตุการณ์ดังกล่าวเราได้ให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดย พยายามอธิบายว่าเป็นเรื่องของความเป็นไทยที่ไม่เหมือนใครและไม่จำเป็นจะต้อง มีใครเหมือน ทั้งยังลงท้ายด้วยการสรุปว่าวัฒนธรรมของไทยเป็นวัฒนธรรมที่สามารถใช้อำนาจ เพื่อจะผดุงความสงบสุขให้กับสังคม ซึ่งควรจะถือเป็นเรื่องน่ายินดีด้วยซ้ำที่ประเทศอื่นไม่สามารถจะทำตามได้

ย้อนกลับมาสู่สังคมไทยในปัจจุบันอีกครั้ง นอกเหนือไปจากกรณีของคนเสื้อแดงที่ถูกสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธ ในที่นี้ผู้เขียนจะไม่ขออธิบายรายละเอียดลงไปมากนักเพราะเชื่อว่าทุกคนคงจะ รับรู้เรื่องราวกันมาแล้วทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นด้านของคนเสื้อเหลืองหรือเสื้อ แดง แต่ไม่ว่าคนเสื้อแดงจะมีอาวุธจริงหรือไม่ ? หรือฝ่ายทหารได้ตั้งใจยิงเข้าสู่คนเสื้อแดงอย่างนั้นหรือ? นั่นไม่ใช่คำตอบที่เราสามารถจะสรุปลงไปได้อย่างชัดเจน (อย่างน้อยก็ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้) แต่สิ่งที่เราควรจะครุ่นคิดหาคำตอบคือ ปฏิกิริยาของคนในสังคมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อความรุนแรงที่เกิดจนทำให้ มีจำนวนของผู้เสียชีวิตเป็นตัวเลขที่สูงมากและนั่นยังไม่รวมกับสภาพจิตใจที่ ย่ำแย่ของคนที่ร่วมชุมนุมและผู้ที่อยู่ ในเหตุการณ์

เราควรจะทำความเข้าใจสังคมของเราว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับคนส่วนใหญ่ของ ประเทศหรือคนเกือบทั้งหมดของกรุงเทพมหานครที่กำลังโกรธแค้นบุคคลที่ทำลาย อนุสรณ์สถานแห่งความรื่นรมย์ของชีวิตเมืองกรุงของพวกเขาและเรียกร้องให้ รัฐบาลออกมาจัดการกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวอย่างเร่งด่วน แต่กลับกันเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง พวกเขาก็โหยหาอาลัยอาวรณ์จนถึงขนาดที่ว่าต้องมีการจัดงานระลึกหรืออะไรก็ตาม เพื่อดึงเอาความทรงจำที่ดีกับสถานที่เหล่านั้นของพวกเขากลับคืนมา

หรือแม้แต่ เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ที่เคยสาหัสเพียงใด ในตอนนี้ก็ดูจะเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม กระแสของการหล่อหลอมคนไทยให้มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวได้จางหายไปกับกาลเวลา สิ่งที่เหลืออยู่มีเพียงความเมินเฉยของคนในสังคมส่วนใหญ่ที่ได้รับฟังข่าว คราวที่อาจจะปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆบ้างเท่านั้น ผู้เขียนไม่ขอปฏิเสธว่าผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นที่สามารถรับฟัง ข่าวการเสียชีวิตของคนในภาคใต้ได้อย่างชินชา จนถึงในวันนี้ที่เกิดคำถามกับตัวเองว่าเราเคยถามตัวเองไหมว่าจำนวนของคนที่ เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้มันเป็นจำนวนเท่าใด? แทนที่จะมัวมานั่งหาวิธีสมานฉันท์ เราควรจะย้อนกลับไปคิดหรือไม่ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไรต่อความรุนแรงที่เกิด ขึ้นและเราควรจะจัดการกับมันอย่างไร?

ท่ามกลางกระแสนิยายออนไลน์ที่กำลังขยายตัวไปพร้อมกับเรื่องราวที่วนเวียนอยู่กับการที่พระเอกข่มขืนนางเอกไม่รู้จบ

ท่ามกลางทัศนคติของผู้หญิงไทยที่มีต่อความรุนแรงทั้งในครอบครัวและชีวิตรักว่าเป็นเรื่องธรรมดา

ท่ามกลางการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในสังคมไทยครั้งแล้วครั้งเล่าและยังมีที ท่าว่ารัฐประหารกับการเมืองไทยจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันตลอดทั้งที่ผ่านมาและ อาจจะตลอดไปโดยไม่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ใดๆทั้งสิ้น

ท่ามกลางปรากฏการณ์การแบ่งสีที่นำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองและจบลงด้วยการสูญเสีย

ท่ามกลางสถานการณ์ภาคใต้ที่ยังคุกรุ่นอยู่และยากที่จะดับลงไป

ในเวลานี้ความรู้สึกต่อความรุนแรงของคนในสังคมมันกำลังดำเนินไปในทิศทาง ใด บางทีเราไม่ควรจะมองสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องธรรมดาที่เป็นลักษณะเฉพาะ ของสังคมไทยอีกต่อไปแล้ว แต่เราควรจะมองตัวเราเองด้วยความประหลาดใจว่าเรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ อย่างไรและหาวิธีจัดการกับมันอย่างเร็วที่สุดก่อนที่สังคมของเราจะกลายเป็น สังคมที่มีความรุนแรงเป็นพื้นฐานต่อการจัดการทางอำนาจมากไปกว่านี้ เราควรจะตระหนักว่าการใช้กำลังได้แทรกซึมเขาสู่ปริมณฑลของปัจเจกบุคคล ครอบครัว สังคม ตลอดจนรัฐของเราอย่างช้าๆ และในท้ายที่สุดมันก็อาจจะกลืนให้สังคมไทยสามารถใช้กำลังในการตัดสินใจทุกๆ อย่างโดยไม่ต้องมีศีลธรรมหรือเหตุผลมารองรับ

เอกลักษณ์ของความเป็นไทยอาจมีหลายรูปแบบเท่าที่เราจะสร้างมันขึ้นมาได้ และสามารถนำออกไปอวดสู่สายตาชาวโลกได้อย่างภาคภูมิใจ แต่กับความรุนแรงที่กลายมาเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ สำหรับผู้เขียนแล้ว มันช่างเป็นความเป็นไทยที่บิดเบี้ยวไปอย่างน่าใจหายเหลือเกิน


ที่มา: ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื่องจากปัจจุบันได้มีการประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ทางthairedshirt ขอความร่วมมือ ใช้ความระวัดระวังในการโพสต์ข้อความที่มีความสุ่มเสียงทุกชนิดครับๆ