วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

แทนที่ศีลธรรมแบบพ่อด้วยศีลธรรมแห่งมนุษย์

ศีลธรรมแบบพ่อ” เป็นคำที่มีนัยบ่งถึงการให้ ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความรัก ซึ่งโดยอุดมคติแล้วควรจะเป็นความรักที่บริสุทธิ์ แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่

มนุษย์ทุกคนต้องการความเคารพยกย่องจากผู้อื่นว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรีที่ เท่าเทียมกัน นี่คือที่มาของพันธะทางศีลธรรมของการสร้างสังคมแห่งความเสมอภาค แต่สังคมแห่งความเสมอภาคก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างขึ้นได้ง่ายๆ (คงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะครอบครองอำนาจ และสิ่งที่น่าปรารถนาต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน) แม้ลัทธิสังคมนิยมจะ เคยพยายามเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นเช่นนั้น แต่ก็ยังไม่ยังเคยประสบความสำเร็จ (และดูเหมือนว่าความหวังเช่นนั้นก็จบสิ้นไปแล้วในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่) และด้วยการครอบครองที่ไม่เท่าเทียมกัน ด้วยความรัก ความหลงตนเอง มนุษย์ก็ยังสามารถยกตนเองเหนือกันและกันเป็นชั้นๆ และสร้างวาทกรรมที่ ทำให้ผู้ที่อยู่ต่ำลงมาเป็นชั้นๆ ยอมรับฐานะลดหลั่นเช่นนั้น วาทกรรมดังกล่าวมีพันธะทางศีลธรรมที่บิดเบือนเป็นแกนกลาง หมายความว่า เราอาจจะคิดว่าเราควรสร้างสังคมที่มนุษย์ทุกคนรู้สึกเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ถ้าพันธะทางศีลธรรมถูกเข้าใจอย่างผิดพลาดบิดเบือน เราอาจคิดว่าเรามีพันธะทางศีลธรรมต่อการรักษาสังคมแบบชนชั้นแทนก็เป็นได้

นักสังคมวิทยาเรียกระบบชนชั้นในสังคมไทยว่าระบบอุปถัมภ์ เพื่อ ที่จะแสดงว่าระบบชนชั้นแบบนี้มีพันธะทางศีลธรรมบางอย่างเป็นแกนกลาง เพื่อสร้างและรักษาความสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ปกติคำว่า ชนชั้น หมายความว่ามีกลุ่มคนที่มีอำนาจเหนือผู้อื่นและใช้อำนาจนั้นบังคับขูดรีดเอา ผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่ไร้อำนาจ นั่นคือระบบชนชั้นแบบดิบๆ ที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีความรู้สึกของความสัมพันธ์ทางจิตใจต่อกัน ดังนั้นจึงไม่มีพันธะทางศีลธรรมต่อกัน ระบบอุปถัมภ์ไม่ใช่ระบบดิบๆ เช่นนั้น คำว่า อุปถัมภ์ เป็นคำทางศีลธรรม แสดงความเมตตาและการให้ความช่วยเหลือ ต่อผู้ที่มีน้อยกว่าตน สร้างให้เกิดพันธะทางศีลธรรมต่อผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ ที่จะต้องตอบแทนต่อผู้ให้การอุปถัมภ์ นักสังคมวิทยาจะกล่าวว่าระบบอุปถัมภ์ของไทยมีศีลธรรมคือเมตตาธรรม และ ความกตัญญู เป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ แต่แม้กระนั้นความมีชนชั้น คือความแตกต่างกันในอำนาจ และการขูดรีดผลประโยชน์ ที่ผู้อยู่เหนือเอาจากผู้อยู่ล่าง ก็ยังคงมีอยู่เป็นธาตุแท้ของความสัมพันธ์

จิตวิทยาเบื้องหลังความสัมพันธ์ทางสังคมแบบนี้ก็คือ ความรักความหลงในตนเองว่ามีค่าและอยู่เหนือผู้อื่นของผู้ให้การอุปถัมภ์ และความรู้สึกต่ำต้อยต้องการที่พึ่งพิง ความไร้ความเชื่อมั่นในตนเอง ของผู้รับการอุปถัมภ์

เป็นไปได้ว่าในระบบนี้ พันธะ ทางศีลธรรมที่มีระหว่างกัน จะพัฒนาไปถึงขีดสูงสุด จนการขูดรีดที่ผู้อยู่ข้างบนกระทำต่อผู้อยู่ข้างล่าง เป็นไปในขอบเขตที่น้อยที่สุด หรือไม่มีการขูดรีดตามความหมายปกติเลย คือ ผู้ให้อาจมีเมตตาอย่างสูงสุด คือให้ได้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนมีทรัพยากรที่จะใช้กระทำ เหลือความ เป็นชนชั้นอยู่แต่เพียงในความแตกต่างกัน ของระดับของเกียรติและศักดิ์ศรี และอำนาจที่ผู้ที่อยู่ข้างบนจะกำหนดความถูกผิด และความน่าปรารถนาไม่น่าปรารถนาต่างๆ ให้ผู้อยู่ข้างล่างต้องยึดมั่นตาม ด้วยพันธะของความกตัญญู จนสูญเสียอำนาจ ในการกำหนดคุณค่าในชีวิตของตนเอง

เราจะเรียกระบบศีลธรรมที่มี เมตตาธรรม และ ความกตัญญู นี้เป็นแกนกลางว่าอย่างไรดี? คำว่าระบบอุปถัมภ์มุ่ง เน้นที่ความเป็นชนชั้น ที่มีระบบศีลธรรมแบบนั้นเป็นตัวยึดเหนี่ยว แต่ตอนนี้ เราต้องการที่จะเน้นที่ตัวระบบศีลธรรมนี้เอง ในฐานะที่สร้างผลให้เกิดความต่างในระดับของเกียรติยศและศักดิ์ศรีของคนใน สังคม และสร้างความเป็นชนชั้นตามขึ้นมา นั่นก็คือเราต้องการสลับที่การเน้นและสลับความสัมพันธ์ทางตรรกะ ระบบศีลธรรมนี้เน้นความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นผู้ให้ การเป็นผู้รับ และการใช้อำนาจ ดังนั้นต้นแบบที่ดีที่สุดคือครอบครัว เพราะพ่อแม่เป็นผู้ให้กับลูก แต่ก็ใช้อำนาจกับลูก ดังนั้นขอให้เรียกระบบศีลธรรมแบบนี้ว่า ศีลธรรมแบบพ่อ แม้อาจจะเรียกแบบเต็มๆได้ว่า ศีลธรรมแบบพ่อแม่ แต่จะขอใช้ตามการใช้ของวิชาสังคมวิทยาที่เรียกสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ว่า สังคมแบบพ่อ(patriarchal society) และจะถือว่าแม่คือผู้ได้รับอำนาจและทรัพยากรในการให้ต่อลูกมาจากพ่อ คำว่า ศีลธรรมแบบพ่อ เป็นคำที่มีนัยบ่งถึงการให้ ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความรัก ซึ่งโดยอุดมคติแล้วควรจะเป็นความรักที่บริสุทธิ์ แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่

เราอาจบรรยาย พ่อ ในฐานะต้นแบบทางศีลธรรมได้ ดังนี้ พ่อคือผู้ที่ใช้แรงกายแรงปัญญา แสวงหาทรัพยากรของความอยู่ดีกินดีของตนเองและครอบครัว พ่อส่งผ่านทรัพยากรไปให้แม่ เพื่อใช้ในการดูแลลูก ลูกเป็นผู้รับ เพราะไม่อาจแสวงหาทรัพยากรของชีวิตด้วยตนเองได้ พ่อคือต้นกำเนิดของความดีทั้งมวล เพราะพ่อคือผู้ให้คนแรก โดยมีแม่เป็นผู้ให้คนที่สอง เพราะเป็นผู้สนับสนุนภารกิจของพ่อ ลูกคือผู้รับ การให้คือความดี ดังนั้นลูกคนที่หนึ่งจะยังไม่มีความดีในตนเอง แต่เมื่อครอบครัวขยายออก ลูกคนโตสามารถกลายเป็นผู้ให้ต่อน้อง เขาได้ความดีในฐานะผู้ให้ต่อน้อง เขาเป็นผู้ช่วยพ่อ สร้างชีวิตที่ดีให้กับลูกคนอื่น ความดีนี้เกิดขึ้นเป็นขั้นๆ ไปตามอำนาจในการสร้างชีวิตที่ดีให้กับผู้อื่น พี่คนรองๆ สามารถให้ต่อน้องไปเรื่อยๆ จึงมีความดีลดหลั่นลงมา จนถึงน้องคนสุดท้อง แต่น้องคนสุดท้องคือผู้ที่รับเพียงอย่างเดียว เพราะไม่มีใครอยู่ต่ำกว่าที่เขาจะมีบทบาทเป็นผู้ให้อีกแล้ว การสร้างความดีระหว่างกันของลูกๆ และการที่พี่ให้ต่อน้อง คือการกตัญญูตอบแทนพระคุณพ่อ เพราะไม่มีอะไรที่พ่อต้องการกลับจากลูก พ่อคือผู้ที่ครอบครองฐานชีวิตทุกอย่างอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พ่อต้องการตอบจากลูก คือการให้ระหว่างกัน เพราะพ่อต้องการความสุขของลูกทุกคน

ในสังคมไทยเราได้ยินเสียงของวาทกรรมทาง ศีลธรรมแบบนี้ตลอดเวลา เราถูกเรียกร้องให้สร้างความดีต่อกัน ในฐานะความกตัญญูต่อผู้ให้สูงสุด ผู้ที่เป็นต้นกำเนิดของความดี ในชีวิตของคนทุกคน ความดีระหว่างเรา ไม่ได้เกิดด้วยเหตุแห่งความรักระหว่างเรา เท่ากับที่เกิดจากความรัก และความกตัญญูตอบ ต่อผู้ที่ให้ทุกสิ่งต่อเรา สรุปก็คือ ในวาทกรรมนี้พ่อคือ ต้นแบบของความดีงามทางศีลธรรม แต่วาทกรรมนี้ก็มีนัยว่า ความดี หรือเกียรติ หรือคุณค่าของคน มีไม่เท่ากัน หากแต่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ ตามการครอบครองทรัพยากร ซึ่งกลายมาเป็นอำนาจของการให้ คนที่ไม่อาจให้อะไรต่อใครได้ เพราะเขาคือผู้ที่ขาดแคลน ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีความดีอยู่เป็นสมบัติของตนเองเช่นกัน

สิ่ง ที่ยังต้องเติมเข้าไปในภาพอุปมาอุปมัยดังกล่าว ก็คือ อำนาจที่มีเหนือกันเป็นขั้นๆ พ่อถือครองอำนาจสูงสุด ลูกจะต้องเคารพบูชาเชื่อฟังพ่อ ในฐานะพันธะของความกตัญญู พ่อกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่ลูกจะต้องทำตาม ไม่มีสิทธิโต้เถียงตั้งคำถาม และพี่ก็มีอำนาจเดียวกันเช่นนั้นเหนือน้อง ลูกที่ดื้อดึงเกเรไม่เชื่อฟังหรือบังอาจตั้งคำถามโต้เถียง ก็ย่อมถูกลงโทษ และประณามว่าอกตัญญู เมื่อการถืออำนาจเหนือลูกเข้ามาเป็นเงื่อนไขประกอบของการให้ ความรักของ พ่อก็ย่อมไม่บริสุทธิ์จริง พ่อที่รักลูกอย่างบริสุทธิ์ย่อมไม่สร้างความแตกต่างในอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ไม่สร้างความแตกต่างแบบฟ้ากับดิน แต่ย่อมปรารถนาที่จะก้าวลงมาสู่ความสัมพันธ์ที่เสมอกันฉันท์เพื่อนกับลูก ยอมรับได้ว่าบางครั้งพ่อก็ผิด และขอโทษลูกได้ ยอมรับได้ว่า สิ่งที่พ่อกล่าวว่าดีสำหรับลูก ลูกอาจเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ดีจริงสำหรับตน ซึ่งหมายความว่า ในความรักที่บริสุทธิ์ของพ่อแม่ ลูกจะต้องไม่สูญเสียตัวตน วาทกรรมของศีลธรรมแบบพ่อ ที่เรียกร้องความกตัญญูจนลูกสูญเสียตนเอง จึงไม่ใช่ศีลธรรมที่บริสุทธิ์จริง ดังนั้นความสัมพันธ์ทางศีลธรรมในระบบอุปถัมภ์จึงเป็นศีลธรรมที่จอมปลอม

ภาพยนตร์เพลงของวอลท์ดิสนีย์เรื่อง Mary Poppins แสดง การเปลี่ยนของสังคมตะวันตก จากสังคมพ่อเป็นใหญ่ หรือ ครอบครัวแบบพ่อใช้อำนาจต่อลูก มาสู่สังคมที่เสมอภาค หรือครอบครัวที่พ่อเสมอกับลูกๆ ได้อย่างน่ารักสนุกสนาน พ่อทำงานธนาคาร แม่เป็นแม่บ้าน พ่อกำหนดทุกอย่างในบ้าน แม่ไม่เคยเถียงพ่อตรงๆ แต่แม่ก็ออกจากบ้าน ไปร่วมขบวนการเรียกร้องความเสมอภาคในสิทธิทางการเมืองของสตรี พ่ออยากสอนลูกให้เห็นค่าของเงิน และการทำธุรกิจ จึงให้เงินลูกเพื่อนำไปฝากธนาคารที่ตนทำงาน แต่ลูกต้องการเอาเงินไปให้ขอทาน พ่อบังคับให้ลูกทำตามสิ่งที่ตนเห็นว่าดี แต่ในที่สุดลูกก็ดื้อทำตามใจตนเองแบบเด็กๆ ไปตะโกนขอถอนเงินจากธนาคาร เกิดความโกลาหล ลูกค้าคนอื่นเกิดความตระหนก ว่าธนาคารจะไม่ยอมคืนเงินฝาก แห่กันถอนเงินตาม ธนาคารจึงล่มในวันนั้นเอง พ่อถูกไล่ออกจากงาน จึงสำนึกในความโง่ ในการใช้อำนาจบังคับให้ลูกยอมรับความคิดและค่านิยมของตน ทั้งๆ ที่ลูกมีคุณค่าอื่นอยู่ในใจเป็นของตนเอง เมื่อสำนึกแล้วจึงลงมาชวนลูกไปเล่นว่าว ซึ่งลูกรอคอยมานาน เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน และความรักที่บริสุทธิ์ของพ่อ

ในการเรียนรู้ทางศีลธรรมของเด็ก ครอบ ครัวและการให้ของพ่อแม่คือต้นแบบของศีลธรรมจริงๆ ไม่ใช่แค่ในเชิงของอุปมาอุปมัยเพื่ออธิบายศีลธรรมในสังคม แต่การให้ของพ่อแม่ต้องบริสุทธิ์ อยู่เหนือความปรารถนาที่จะมีอำนาจเหนือลูก เพราะเมื่อนั้นศีลธรรมที่ลูกมีต่อผู้อื่นก็จะเป็นการให้ที่บริสุทธิ์เช่นกัน มิใช่เพราะต้องการความเหนือกว่าในอำนาจ หรือในเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นการตอบแทน แต่ในศีลธรรมของระบบอุปถัมภ์นิยม การที่ผู้ให้การอุปถัมภ์เรียกร้องเอาอำนาจเหนือผู้รับการอุปถัมภ์ ถือตนว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีเหนือกว่า คือตัวธรรมชาติธาตุแท้ของระบบดังกล่าว ระบบอุปถัมภ์คือระบบชนชั้น ระบบชนชั้นคือการมีอำนาจและเกียรติยศศักดิ์ศรีที่ไม่เท่าเทียมกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ การมีสถาบันชั้นสูงที่เป็นผู้อุปถัมภ์ชนชั้นล่าง แต่อยู่เหนืออำนาจการวิพากษ์วิจารณ์ของชนชั้นล่าง พ่อแม่ที่กำหนดวิถีชีวิตของลูก ครูบาอาจารย์ที่ไม่อนุญาตให้ศิษย์โต้เถียงแสดงความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งบังคับเอาจากพันธะทางศีลธรรมของความกตัญญู การที่ผู้สมัครเลือกตั้งใช้อำนาจเงินซื้อเสียงได้เสมอ ก็เพราะอาศัยพันธะของความกตัญญู ภายใต้วาทกรรมของศีลธรรมแบบพ่อนี้เอง เราจะเห็นการให้ที่ผู้ให้บังคับเอาอำนาจเหนือผู้รับ อยู่ในทุกกรณีของความสัมพันธ์ทางสังคมแบบอุปถัมภ์นิยม

แต่ การเปิดเผยให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในอำนาจ และความไม่บริสุทธิ์ของการให้ ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการเอาชนะระบบศีลธรรมแบบชนชั้น ตราบใดที่เรายังไม่อาจเอาชนะความคิดว่า ความดีงามทางศีลธรรมเกิดจากอำนาจของการให้ในสิ่งที่มีค่าน่าปรารถนาต่อผู้ ที่ขาดแคลน ตราบนั้นเกียรติยศ คุณค่า และศักดิ์ศรีของผู้คนในสังคมย่อมไม่มีวันเสมอภาคเท่าเทียมกัน บทเรียนจากวิชาจริยศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ขอให้เรามาพิจารณากันอย่างละเอียดที่สุด ถึงผลตามนัยของความคิดว่าค่าทางศีลธรรมของบุคคลอยู่ที่อำนาจของการให้ ความ คิดเช่นนี้มีอยู่จริงในสังคม และแสดงออกผ่านคำพูดว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ซึ่งหมายความว่าใครสร้างผลงานเป็นความดีในสังคมได้มากเท่าไร คน ๆ นั้นก็ย่อมมีค่ามากขึ้นเท่านั้น คำพูดนี้ฟังดูธรรมดา แต่เราก็จะรู้สึกถึงความจอมปลอมของมัน ทันทีที่เรานำความคิดนี้มาใช้ เพราะตามความคิดนี้ หมอมีค่ามากกว่าพยาบาล เพราะหมอมีอำนาจในการรักษาความป่วยไข้ได้มากว่าพยาบาล อาจารย์มหาวิทยาลัยย่อม มีค่ากว่าอาจารย์โรงเรียนมัธยม ประถม อนุบาล ไปตามลำดับ และอาจารย์ย่อมมีค่ามากกว่าภารโรง อย่างเทียบกันไม่ได้ เราสามารถจัดลำดับความสำคัญของอาชีพต่างๆ ต่อสังคมได้ไม่ยาก และคนก็มีค่าลดหลั่นกันไป ตามความรู้ความชำนาญ สถานะและบทบาทในสังคม ด้วยศีลธรรมอันบิดเบี้ยวเท่านั้น ที่จะทำให้เราเห็นจริงเห็นจังไปกับความคิดเช่นนี้ได้

แต่ อย่าคิดว่าความคิดเช่นนี้ห่างไกลจากตัวเรา ซึ่งเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มองดูความหยิ่งทะนงและภาคภูมิใจในตัวเองของคุณ คุณทะนงว่าคุณเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่ย่อมเหนือกว่านักเรียนพาณิชย์หรือนักเรียนอาชีวะ เพียงเพราะคุณชนะเรียนเก่งกว่า หรือเพราะคุณคิดว่าในอนาคตต่อไป คุณจะเป็นคนที่มีอำนาจ ที่จะทำในสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคมมากกว่าพวกเขา และนักเรียนแพทย์ก็คงหยิ่งทะนง ว่าเขาเหนือพวกคุณ ความรู้สึกทะนงตนและมีอำนาจอาจมีเรื่องเงินทองมาประกอบ แต่ ครู หมอ พยาบาล สามารถทะนงตนกว่าพ่อค้านักธุรกิจที่ร่ำรวย แต่เราก็รู้สึกไม่ใช่หรือว่า ความทะนงตนว่าเราเหนือต่อกันในด้านทั้งปวง ล้วนคือความหลงตัวเองอันจอมปลอม ค่าของความเป็นมนุษย์ ของนายกรัฐมนตรีและคนกวาดถนน หรือขอทาน ต่างกันตรงไหน? ในศีลธรรมที่ออกมาจากหัวใจลึกๆ เราอยากยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนมีค่า มีเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน

ขอให้ดูนัยทางศีลธรรม ที่บิดเบี้ยวที่สุดของคำพูดว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ตาม ความคิดนี้ คนที่ไม่สามารถให้อะไรกับใครได้เลย เป็นได้แต่เพียงผู้รับ และเป็นได้แต่เพียงภาระของสังคม ย่อมไม่มีค่าในตนเองเลย ไม่ว่าจะเป็นคนไร้ความรู้ ไร้ทรัพยากร ขอทาน คนพิการ คนปัญญาอ่อน เด็กๆ ทั้งหลาย ซึ่งนี่คือสถานการณ์ของน้องคนสุดท้องในครอบครัวในระบบศีลธรรมแบบพ่อ แล้วยิ่งคนที่เป็นปัญหาต่อสังคมอีกละ อาชญากรนอกจากไม่มีค่าต่อสังคม แล้วยังมีค่าทางลบอีกด้วย ถ้าอย่างนั้นเราจะไม่ยอมรับเลยหรือว่า แม้ว่าเขาจะเป็นผู้ที่กระทำผิดต่อผู้อื่นก็ตาม เขาก็ยังมีค่าของความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว เห็นได้ชัดว่า เราต้องเอาชนะความคิดที่ว่า ความดีตัดสินกันที่อำนาจของการให้ ให้จงได้ แต่จะด้วยวิธีอะไร?

นัก จริยศาสตร์จะบอกเราว่า ถ้าเราคิดว่าความดีเกิดขึ้นจากอำนาจของการให้ เรากำลังคิดผิดด้วยการมองความดีว่าเป็นคุณสมบัติของการกระทำ แต่การกระทำที่ดีต้องออกมาจากจิตใจที่ดีไม่ใช่หรือ? ค้านท์ยืนยันว่าถ้ามีเจตนาที่ดี แต่ไม่มีอำนาจในการกระทำตามเจตนานั้น เพราะถูกขัดขวางไว้ด้วยอุปสรรคทั้งปวงที่เหนืออำนาจที่เขาจะเอาชนะ ไม่ว่าจะเพราะด้วยความพิการ หรือความขาดไร้ทรัพยากร ฯลฯ ความดีงามทางศีลธรรมก็เกิดขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์ ขอเพียงแค่มี “เจตนาที่ดี” อยากที่จะกระทำก็พอ ตัวการกระทำและผลสำเร็จของการกระทำ ไม่ได้ช่วยเพิ่มอะไรให้กับคุณค่าและความดีงามที่เกิดขึ้นแล้วเลย คนที่เป็นกษัตริย์กับคนที่เป็นขอทาน อาจมีจิตใจที่ปรารถนาดีต่อผู้อื่นเท่าๆ กัน และคนทั้งสองย่อมมีคุณค่า และความดีงามทางศีลธรรมที่เท่าเทียมกันทุกประการตามการอธิบายนี้ แม้คนหนึ่งจะมีอำนาจทุกประการที่จะบันดาลในสิ่งที่ตนเจตนาให้เป็นจริง แต่อีกคนหนึ่งไม่อาจแม้แต่จะช่วยตนเองเสียก่อน ทั้งสองคนก็มีความดีเท่ากัน

ดัง นั้นการเอาชนะระบบศีลธรรมแบบที่ความดีตัดสินกันด้วยอำนาจของการให้ ทำได้ด้วยการตระหนักว่า เราไม่อาจมองความดีที่ภายนอก แต่ต้องมองกลับไปให้ถึงจุดกำเนิดของมัน เราต้องมองความดีไม่ใช่ที่เปลือก แต่ที่แก่นแท้ของมัน และนี่คือความผิดพลาดโง่เขลาของระบบศีลธรรมแบบชนชั้น แต่นี่อาจเป็นผลของเจตนาที่จะปิดกั้นสายตาของตนเองจากความเป็นจริง และการมีมโนสำนึกที่บิดเบือนไปเพราะผลทางจิตวิทยาของความต้องการอำนาจ เพื่อมาชดเชยชีวิตที่ต้องอยู่ใต้อำนาจกันเป็นชั้นๆ และนี่ให้คำอธิบายต่อข้อเท็จจริงที่ว่า ในระบบอุปถัมภ์ คน สามารถลดตนเองลงเป็นธุลีดิน เรียกตนเองเป็นฝุ่นผงธุลีดินราวกับคนในวรรณะจัณฑาลของฮินดู ต่อหน้าผู้ที่ตนเองรู้สึกกตัญญูว่าเป็นผู้ที่เมตตา ให้ทุกสิ่งทุกอย่างต่อตน และตนบูชาให้เป็นเทพเจ้า แต่คนเช่นนี้ก็จะต้องการความกตัญญู และเรียกร้องการยอมลดตัวเองลงต่ำของผู้ที่รับการอุปถัมภ์จาก ตนเช่นกัน นั้นก็คือ เขาย่อมต้องการคำเรียกว่า “ท่าน” “พณฯท่าน” และรูปแบบการปฏิบัติต่อเขาที่เหมาะสมตามคำเรียกนั้น จากสามัญชนผู้เป็น “นายนั่น” “นางนี่” ทั้งหลาย

กลับมาสู่บทเรียนของวิชาจริยศาสตร์ อะไรคือต้นกำเนิดของความดีที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์ ค้านท์ใช้ คำว่า “เจตนาที่ดี” อย่างที่เขาจะอธิบายเชื่อมโยงศีลธรรม เข้ากับการ “เคารพ” ต่อเหตุผล ซึ่งได้มาจากอำนาจทางปัญญาของมนุษย์ เพราะเขาเป็นนักปรัชญาแนวเหตุผลนิยม เรา จะไม่ขยายความทฤษฎีของเขาอีกครั้งในที่นี้ แต่จะเสนอคำอธิบายในทิศทางตรงกันข้าม คือมุ่งไปสู่ความรู้สึกทางอารมณ์ของมนุษย์ โดยจะอธิบายว่า ความรู้สึกทางจิตใจหรือความรู้สึกทางอารมณ์ คือแก่นแท้ของความรู้สึกถึงคุณค่าทางศีลธรรม ที่มีอยู่ในตัวเองของเราและของมนุษย์ผู้อื่นทุกคน ผู้เขียนเลือกทางนี้เพราะเห็นว่า เมื่อเราถามหาเหตุผลว่า ทำไม มันจะต้องจบลงที่จุดๆ หนึ่ง ซึ่งเราไม่สามารถหาเหตุผลอื่นมาตอบต่อไปได้อีกแล้ว ที่นั่นคือที่ที่เราจะตอบได้แต่เพียงว่า เพราะมันเป็นเช่นนั้น หรือ เพราะฉันรู้สึกเช่นนั้น “ทำไมฉันจึงควรเคารพต่ออำนาจในการใช้เหตุผลของฉัน ก็เพราะฉันรู้สึกเช่นนั้น” ดังนั้น ลึกลงไปจากเหตุผล ก็คือความรู้สึกทางอารมณ์ ได้แก่สิ่งที่เป็นความจริงแบบอัตวิสัยของคนแต่ละคน หมายความว่า วิภาษวิธีต้องจบลงที่ใดที่หนึ่ง และที่นั่นเราต้องถามต่อหัวใจ

ถ้าเราถูกถามว่า อะไรคือสิ่งที่เรารู้สึกว่าสูงค่าที่สุดในตัวเรา อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรารับรู้ตนเองว่าเป็นมนุษย์ ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีคุณค่าทางศีลธรรมอยู่ในตนเอง และเป็นค่าที่เรารู้ด้วยความรู้สึกไม่ใช่ด้วยความคิด คำตอบที่ผู้เขียนจะให้ก็คือ การมีหัวใจที่จะรับรู้ถึงความรู้สึกของชีวิตอื่น ลองมาดูสิว่า ถ้าเป็นคุณ คุณจะตอบแบบเดียวกันนี้หรือไม่

การ มีหัวใจก็คือการมีความรู้สึกสุขและทุกข์ และหัวใจของมนุษย์ก็เป็นสิ่งน่ามหัศจรรย์ คุณเคยหรือไม่ที่รู้สึกมีความสุขในการรู้สึกถึงความทุกข์ คุณเคยยิ้มด้วย ความดีใจเมื่อรับรู้ว่าน้ำตาของคุณกำลังรินไหลด้วยความทุกข์หรือไม่ นี่ฟังดูแปลกประหลาด แต่นี่แหละคือความมหัศจรรย์ของหัวใจ แต่ดูเหมือนว่าในแต่ละวันเราจะมีหัวใจน้อยกว่ามีหัวคิด ลองคิดถึงชีวิตของคุณแต่ละวัน มันดำเนินไปตามแบบแผนที่คุณวางไว้ เพื่อพาไปสู่สิ่งที่คุณมุ่งหวังปรารถนาในอนาคต ตื่นมาก็อาบน้ำ แต่งตัว กินอาหาร คุยเล่นหัวกับเพื่อน เข้าเรียน พยายามทำความเข้าใจและจดจำบทเรียน กลับที่พัก ออกมาเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพและความสนุกสนาน หรือมีกิจกรรมนันทนาการอื่น แล้วก็กลับที่พัก เข้านอนผักผ่อน เพื่อที่จะตื่นมาทำในสิ่งเดิมๆ ในวันต่อไป อาจมีความสุขในเชิงของความสนุกสนาน และความทุกข์ในเชิงของความเหนื่อยยากอยูนิดๆ หน่อยๆ คนส่วนใหญ่ในสังคมก็คงมีชีวิตเป็นรูปแบบที่ซ้ำซากเช่นนี้ไม่ต่างไปนัก นั่นก็คือเรามีชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ เรารู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ของเราเท่าไรกันเชียวในแต่ละวัน แทบจะไม่เลย เรามีชีวิตอยู่กับหัวคิด และแผนงาน มากกว่ากับหัวใจ

เรา อาจจะลืมๆ ไปด้วยซ้ำว่าเรามีหัวใจ จนวันหนึ่ง อะไรบางอย่างทำให้คุณร้องไห้ด้วยความรู้สึกเจ็บปวด แต่คุณไม่ได้ร้องไห้ให้ตัวคุณเอง หรือให้คนที่คุณรักและผูกพันด้วย แต่ร้องไห้ให้กับคนที่คุณไม่เคยรู้จักเลยแม้แต่น้อย อาจเพราะเคราะห์กรรมของเขา ถูกนำมาเสนอเป็นข่าวในโทรทัศน์หรือในหนังสือพิมพ์ หรือด้วยความบังเอิญอะไรก็แล้วแต่ คุณรับรู้ถึงความเจ็บปวดสูญเสียอันลึกซึ้งของเขา แล้วคุณก็หลั่งน้ำตา และถ้าในวันนั้น คุณจำไม่ได้ว่าเมื่อไรคือครั้งสุดท้ายที่คุณเคยร้องไห้ให้กับคนที่คุณไม่เคย รู้จักมาก่อน คุณอาจยิ้มออกมาทั้งน้ำตา และพูดกับตัวเองว่า นี่ฉันยังมีหัวใจอยู่ ฉันยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ แม้เวลาจะผ่านไปนานจนจำไม่ได้ แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดในตัวฉัน ก็ยังอยู่เป็นตัวของฉัน คุณดีใจว่าวันเวลาที่คุณหมดไปกับการหมกมุ่นอยู่กับชีวิต ความสุข ความปรารถนาของตัวเอง มันไม่ได้กัดกล่อนจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของคุณให้หมดสิ้นไป นี่คือขณะที่คุณจะยิ้มให้กับน้ำตาของคุณ

ความเป็นมนุษย์ในความหมายทางศีลธรรม คือความสามารถที่จะรู้สึกถึงความรู้สึกของชีวิตอื่น เสมือนเป็นความรู้สึกของตนเอง นี่คือการข้ามพ้นตนเอง การ สลายไปของขอบเขตของตัวตน คือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิตอื่นอย่างเป็นสากล ไม่ใช่การเป็นอันหนึ่งอันเดียวแบบการขยายออกของตัวตนที่สร้างการแบ่งแยกและความเป็นพวกเขาพวกเรา ในความหมายเช่นนี้ กวี คือผู้ที่มีความเป็นมนุษย์สูงสุด และเป็นต้นแบบของศีลธรรม และนี่คือศีลธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ของเรา

กวีเป็น ผู้ที่มีความสุขในความทุกข์ของตนเอง เป็นผู้ที่ยิ้มให้กับน้ำตาของตน เพราะเขาเห็นคุณค่าและความหมาย ของความสุขและทุกข์ในชีวิตของเขา เขารับรู้ว่าความสุขทุกข์ของเขา เป็นชะตากรรมที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ดังนั้นมันจึงเป็นความสุขความทุกข์ของทุกคน และความสุขความทุกข์ของทุกคน ก็เป็นความสุขความทุกข์ของเขา เขาแสวงหาหนทาง ที่จะรับรู้ความสุขความทุกข์ของผู้อื่น เพื่อที่จะถ่ายทอดมันออกมา ให้มนุษย์ทั้งมวลได้รับรู้ และได้ร่วมรู้สึกอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้

มนุษยธรรม เกิดขึ้นบนโลก เมื่อมนุษย์รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นอย่างไม่แบ่งแยก และทำทุกอย่างที่อยู่ในอำนาจของตน เพื่อบรรเทามัน ใน มนุษยธรรม ความสุขความทุกข์ของมนุษย์ หรือของชีวิตทั้งมวล มีค่าเท่าเทียมกัน ด้วย มนุษยธรรม เราให้ เพื่อให้ผู้เป็นทุกข์พ้นทุกข์ และกลับมามีความสุข เท่าที่เรามี เราให้อย่างที่ปรารถนาให้ผู้ที่ตกอยู่ในสถานะที่ต่ำต้อย ขึ้นมามีคุณค่าเสมอกับเรา

ความเป็นมนุษย์ใน ฐานะสิ่งที่มีค่าทางศีลธรรม เป็นสิ่งที่เรามีอย่างเท่าเทียมกัน เพราะมันเกิดอยู่ในหัวใจของการสามารถที่จะรู้สึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น เสมือนกับเป็นความรู้สึกของเราเอง นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ความสงสารแต่ทว่า แม้แต่เราเองก็ไม่ได้มี ความเป็นมนุษย์อยู่ ตลอดเวลา เฉพาะขณะที่เรารู้สึกด้วยหัวใจเท่านั้น และในชีวิตประจำวัน บางทีเราก็ไม่รู้ว่าหัวใจของเราไปซ่อนเร้นอยู่ที่ไหน ดังนั้น อาชญากร ผู้ที่กระทำผิดต่อผู้อื่น ก็มีความเป็นมนุษย์เท่าๆ กับเรา และเราต้องมีความหวังต่อเขาเสมอว่า แม้ว่าหัวใจของเขาจะหลับใหลไป ก็อาจตื่นขึ้นมาอีกครั้งได้เช่นเดียวกับหัวใจของเรา

และ ณ บัดนี้เราได้ข้ามพ้นศีลธรรมแบบพ่อมาสู่ศีลธรรมแห่งมนุษยธรรมแล้ว


ที่มา: ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื่องจากปัจจุบันได้มีการประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ทางthairedshirt ขอความร่วมมือ ใช้ความระวัดระวังในการโพสต์ข้อความที่มีความสุ่มเสียงทุกชนิดครับๆ